วันพุธที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

Learninglog


หลังจากที่ได้เรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว ได้ศึกษานอกห้องเรียนเกี่ยวกับทักษะการฟัง และการอ่าน มาศึกษาเพิ่มเติม แลได้ทำความเข้าใจ

พัฒนา “ทักษะการฟัง”

ทักษะการฟังเป็นทักษะสำคัญที่จำเป็น ต้องเรียนรู้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทักษะการสื่อสารด้านอื่น ๆ เช่น ทักษะการพูด อ่าน เขียน ฯลฯ ทักษะการฟังที่ดีนำมาซึ่งความสำเร็จในชีวิต เนื่องจากเป็นพื้นฐานสำคัญของทักษะการเข้าสังคม เพราะจะสามารถลดความเข้าใจผิด ความขัดแย้งในการปฏิสัมพันธ์กับคน นอกจากนี้การพัฒนาทักษะการฟังส่งผลต่อการพัฒนาในด้านสติปัญญา ในแง่ของการฝึกใช้ความคิด การจับประเด็น ฝึกความจำ และฝึกฝนการจดจ่อแน่วแน่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ต้องการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่ผ่านมาพบว่า คนในสังคมไทยจำนวนมาก มองว่าทักษะการฟังเป็นเรื่องที่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้เองตามธรรมชาติจึงไม่ต้องดิ้นรนฝึกฝนมากเท่ากับทักษะการสื่อสารด้านอื่น ๆ จึงมักละเลยที่จะฝึกทักษะด้านการฟังนี้ให้กับเด็กไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อเทียบกับทักษะในด้านการพูด อ่าน เขียน ที่ครูให้น้ำหนักความสำคัญในการฝึกฝนผู้เรียน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วทักษะการฟัง เป็นทักษะที่จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนเช่นเดียวกัน โดยควรฝึกฝนตั้งแต่วัยเยาว์ เพื่อพัฒนาทักษะดังกล่าวให้เป็นอุปนิสัยประจำตัวที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตครอบครัวและชีวิตการทำงานของผู้เรียนต่อไปในอนาคต

สอนเด็กให้เป็นนักฟังที่ดีได้อย่างไร
เริ่มจากครูเป็นนักฟังที่ดี นั่นคือครูต้องเรียนรู้ที่จะฟังเด็กเมื่อเด็กต้องการสื่อสารหรืออยากเล่าเรื่องอะไรให้ครูฟัง ครูไม่ควรแสดงความรำคาญไม่อยากฟังหรือฟังแบบขอไปที โดยไม่ได้สนใจในสิ่งที่เด็กพูดจริง ๆ เปลี่ยนเรื่องพูดหรือคุยเรื่องอื่นแทรกขัดจังหวะ ฯลฯ รวมทั้งครูควรระวังพฤติกรรมของตนในขณะสื่อสารกับคนอื่น เช่น ขณะคุยโทรศัพท์ ขณะที่ครูคุยกันเอง ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลต่อการลอกเลียนแบบของเด็กโดยปริยาย นอกจากนี้ในการสื่อสารเรื่องใด ๆ กับเด็ก ครูไม่ควรคิดเอาเองว่าเด็กคงเข้าใจเหมือนอย่างที่ตนเองเข้าใจ แต่ควรสื่อสารออกไปอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กนั้นเข้าใจในสิ่งที่ตนพูดจริง ๆ ดังคำที่กล่าวว่า “Say what you mean, and mean what you say” นั่นเอง
สอนให้อดทนในการฟัง การฟังอย่างมีประสิทธิภาพนั้นเป็นสิ่งที่สามารถสอนและฝึกฝนกันได้ แต่พื้นฐานสำคัญอันดับแรกสุดในการฝึกฝนดังกล่าวนั้น คือ การฝึกฝนความอดทนในการเป็นผู้ฟังที่ดี ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วความอดทนรอคอยของเด็กในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะมีน้อยกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น ครูจึงควรฝึกให้เด็กเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ฟังด้วยความอดทนโดยไม่เกิดความเบื่อหน่ายหรือถูกเรื่องอื่นดึงดูดความสนใจไปเสียก่อน
ภาคปฏิบัติในการฝึกฝนนั้น ครูสามารถฝึกเด็กได้โดยใช้กิจกรรมที่เรียกว่า sit time ในการกำหนดให้มีช่วงเวลาหนึ่งในแต่ละวันให้เด็กได้ตั้งใจฟังสิ่งที่ครูสอน ฝึกฟังเทปบทเรียน เทปนิทาน หรือ หนังสือเสียง
สอนมารยาทการเป็นผู้ฟัง เป็นหลักการสำคัญในการสอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะให้เกียรติผู้พูด ซึ่งเป็นการฝึกฝนให้เด็กไม่เป็นคนที่เย่อหยิ่งหรือเอาตนเองเป็นศูนย์กลางคิดว่าความคิดของตนดีกว่าจนไม่ยอมรับฟังผู้ใด จนเป็นเหตุให้เกิดการปิดกั้นการเรียนรู้จากแหล่งต่าง ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย รวมทั้งเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีต่อทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ทำให้การสนทนานั้นเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และจบลงด้วยดี
ในภาคปฏิบัตินั้น ครูควรสอนให้เด็กให้เรียนรู้จักการมีมารยาทในการฟังด้วยการ
สอนให้เด็กสบตาผู้พูดเสมอ ไม่เดินไปเดินมา ลุกนั่งหรือย้ายที่นั่งไปมา วิ่งเล่นไปมาในขณะที่กำลังฟังผู้อื่นพูดกับตน.สอนให้เด็กไม่พูดขัดจังหวะหรือพูดแทรกในขณะที่อีกฝ่ายยังพูดไม่เสร็จ โดยหากต้องการถามอะไรให้จำหรือจดประเด็นเอาไว้ก่อน หรือหากกลัวลืมจริง ๆ ให้ยกมือขึ้นและกล่าวขออนุญาตถามด้วยน้ำเสียงสุภาพ สอนให้เด็กรู้จักจังหวะของการ พูด/ฟัง ถาม/ตอบ ในการสื่อสาร

...สอนให้เด็กรู้จักเลือกฟังในสิ่งที่สร้างสรรค์เป็นประโยชน์ ไม่ฟังคนอื่นนินทากัน หรือพูดจาลามกหยาบโลน โดยให้ขออนุญาตหรือเดินหลบออกมาอย่างสุภาพ

สอนให้ฟังอย่างกระตือรือร้น ไม่เพียงแต่มีมารยาทในการเป็นผู้ฟังที่ดีด้วยท่าทีตั้งใจฟังอย่างจดจ่อ แต่การเป็นผู้ฟังที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องมีลักษณะแห่งความกระตือรือร้นอยู่ด้วย หรือที่เรียกว่า Active Listening ไม่ใช่แต่แสดงท่าทางภายนอกว่ากำลังฟังอยู่ แต่ในสมองต้องมีการทำงานถกเถียงและคิดไปด้วยอยู่ตลอดเวลา จะฟังแบบใจลอยคิดถึงเรื่องอื่นไม่ได้
โดยภาคปฏิบัติ ครูควรสอนให้เด็กตอบสนองการฟังทุกครั้ง เช่น เมื่อครูเรียกให้เด็กขานรับทันทีว่า “ผมกำลังมาครับ” หรือเวลาครูสอนอะไรให้เด็กแสดงท่าทีตั้งใจฟังและตอบรับ “ครับ/ค่ะ คุณครู” เป็นต้น เพื่อรู้ว่าเด็กกำลังฟังอยู่ รวมทั้งกระตุ้นให้เด็กตั้งคำถามย้อนกลับมาทุกครั้งหลังจากที่ครูพูดคุยสนทนากับเด็กเสร็จหรือพูดทวนสิ่งที่ได้ยินมาซ้ำอีกครั้งเพื่อเป็นการย้ำว่าสิ่งที่เด็กเข้าใจนั้นตรงกันกับสิ่งที่ครูพูดออกไปหรือไม่ เป็นต้น
สอนจับประเด็นโดยตั้งคำถามเพื่อวัดความสามารถในการฟัง ความสามารถในการจับประเด็นเป็นตัวชี้ว่าการสื่อสารที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ผู้ส่งสารสามารถบรรลุเป้าหมายในการสื่อสารที่ต้องการไปยังผู้รับสารหรือไม่ ในภาคปฏิบัติหลังจากจบการพูดคุยกันแล้วทุกครั้ง ครูควรตั้งคำถามทวนซ้ำกับเด็ก เพื่อทดสอบว่าเด็กสามารถจับประเด็นในเนื้อหาที่ฟังไปได้หรือไม่ ตัวอย่างคำถามเช่น ในรูปแบบของ ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร เวลาใด และเด็กจะต้องทำอะไรต่อไป เป็นต้น รวมทั้งสามารถตั้งคำถามเพื่อให้เด็กได้คิดต่อยอด เช่น ถามความคิดเห็นของเด็กเกี่ยวกับเรื่องที่ได้ฟัง “หนูคิดว่าเรื่องนี้ใครผิด?” ... “หนูคิดว่าจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร?” อันก่อให้เกิดประโยชน์ในการฝึกฝนทักษะการคิดให้เด็กได้อีกทาง รวมทั้งครูสามารถรู้จักเด็กเพิ่มขึ้น ผ่านทางแนวคำตอบที่ได้รับด้วยเช่นกัน การพัฒนาทักษะการฟังนั้นเป็นทักษะที่ต้องเรียนรู้ ฝึกฝนตั้งแต่วัยเยาว์ สร้างให้เป็นนิสัย โดยครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะการฟังควบคู่กับทักษะการอ่าน ทักษะการเขียน และทักษะการพูดอย่างสอดรับกัน อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ของเด็ก

ทักษะการอ่าน

วิธีการสอนที่ผู้สอนสามารถนำผู้เรียนเข้าสู่โลกของการเรียนรู้ ในรูปแบบของการอ่านหนังสือ ที่ไม่เพียงสอนให้ผู้เรียนอ่านหนังสือเพื่อรับรู้ข้อมูลเท่านั้น แต่สอนให้ผู้เรียนรู้จักวิธีโต้ตอบกับผู้เขียนอีกด้วย ในอดีตครูผู้สอนที่ต้องการฝึกให้ผู้เรียนรักษาสิ่งของ มักจะกำชับผู้เรียนเสมอว่า “ ห้ามขีดเขียนข้อความใดๆ ลงในหนังสือ ” เพราะจะทำให้หนังสือเลอะเทอะ หรือ “ ถ้าต้องการเน้นข้อความสำคัญ อนุญาตให้ขีดเส้นใต้เพียงอย่างเดียว ” ความคิดเช่นนี้ทำให้ผู้เรียนพลาดโอกาสในการใช้หนังสือเพื่อช่วยพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ ความเข้าใจ ความจำ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และความคิดสร้างสรรค์ เดฟ เอลลิส ( Dave Ellis ) ผู้ให้คำปรึกษาด้านการเรียนเพื่อพัฒนาให้ผู้เรียน “ เรียนเก่ง ” กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า “ มีเหตุผลเดียวที่คนเราไม่เขียนอะไรลงไปในหนังสือ เพราะเรากลัวว่าเมื่อนำไปขายต่อจะไม่ได้ราคา ซึ่งแท้จริงแล้วประโยชน์ที่ได้จากการเขียนลงไปในหนังสือนั้น มีมากกว่าที่ได้รับจากการขายไม่รู้กี่เท่า ” เอลลิส จึงได้คิดระบบที่เรียกว่า Discovery and Intention Joumal Entry System ซึ่งครูผู้สอนสามารถนำมาใช้ในระหว่างการอ่านหนังสือของผู้เรียนได้ Discovery คือ ข้อค้นพบ ทัศนคติ ความคิดเห็น และความรู้สึกที่มีต่อข้อความที่ได้อ่านจากหนังสือ Intention คือ สิ่งที่ต้องตั้งใจจะทำต่อไป หลังจากที่มีข้อค้นพบ หรือมีข้อคิดจากการอ่านหนังสือ เช่น กลับไปถามอาจารย์/เพื่อน ต้องไปค้นพบข้อมูลต่อ เป็นต้น โดยผู้เรียนสามารถขีด เขียน ลงไปในหนังสือได้ วิธีการอ่านแบบนี้ด้วยแบบนี้ช่วยทำให้ผู้เรียนฉลาดขึ้น เพราะผู้เรียนจะกลายเป็น “ ผู้เรียนรู้ ” การสอนผู้เรียนให้อ่านหนังสือและให้พวกเขารับเอาสิ่งที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ทั้งหมดไม่ต่างอะไรกับการฝึกให้นกแก้วนกขุนทองพูดตามคำบอก แต่หากผู้เรียนได้อ่านหนังสือแบบเรียนรู้ จะทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจว่าผู้เขียนต้องการสื่อสารอะไร ได้ฝึกโต้ตอบกับผู้เขียนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่อาจไม่สอดคล้องกับผู้เขียน ไม่เพียงเท่านั้น การอ่านเรียนรู้ยังไม่ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แนวคิดใหม่ คำศัพท์สำนวนใหม่ๆ หรืออะไรก็ตามที่ได้รับจากการอ่าน ซึ่งการอ่านแบบเรียนรู้นี้จะเกิดต่อเมื่อผู้เรียนได้อ่านแล้ว “ คิด ” หรือ “ ขีดเขียน ” ลงไปในหนังสือ ในภาคปฏิบัติ เอลลิสมีคำแนะนำที่ครูผู้สอนสามารถนำไปใช้ได้กับผู้เรียนดังนี้ สอนผู้เรียนให้ขีดเส้นใต้ ทำเครื่องหมาย สร้างสัญญาลักษณ์ เหนือข้อความที่คิดว่าสำคัญ เมื่อผู้เรียนอ่านหนังสือ ครูผู้สอนสามารถแนะนำผู้เรียนให้วงกลมล้อมรอบข้อความสำคัญนั้น ถ้าสำคัญมากและต้องกลับมาทบทวนอาจเพิ่มจำนวนดอกจันทร์เป็น*** ตามความสำคัญของเนื้อหา ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจความคิดของผู้เขียนได้คมชัดมากยิ่งขึ้น สอนให้ผู้เรียนเขียนสรุปสิ่งที่ได้รับจากการอ่าน เมื่อผู้เรียนได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ หรือต้องการย้ำความเข้าใจจากการอ่านหนังสือครูผู้สอนอาจสอนให้ผู้เรียนเขียนสรุปความสั้นๆ หรือทำเป็นรูปภาพ สัญลักษณ์ หรือทำอะไรก็ได้ตามจินตนาการของผู้เรียนไว้มุมใดมุมหนึ่งของหนังสือ การทำเช่นนี้เป็นเหมือนการที่ผู้เรียนได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้เขียน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้จดจำและสามารถทบทวนในสิ่งที่อ่านได้รวดเร็วขึ้น โดยไม่ต้องกลับไปอ่านหนังสือทั้งเล่ม สอนให้ผู้เรียนเขียนแสดงความคิดเห็นจากสิ่งที่ได้อ่าน ครูผู้สอนควรสอนให้ผู้เรียนรู้จักการโต้ตอบกับผู้เขียนระหว่างการอ่านหนังสือ ไม่ควรเป็นผู้รับรู้ข้อมูลเพียงอย่างเดียวโดยแนะนำให้ผู้เรียนเขียนสื่อสาร หรือใช้ภาษาสัญลักษณ์ลงไปในหนังสือด้วย หากผู้เรียนได้นำเสนอมา เช่น ขีดเส้นข้อความที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรือต้องการเสนอความคิดจากสิ่งที่ผู้เขียนได้นำเสนอมา เช่น ขีดเส้นข้อความที่เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย แล้วลากเส้นโยงออกมา เขียนไว้ว่า “ ความคิดนี้สุดยอดจริงๆ ” “ตรงนี้ไม่เห็นด้วยเขียนแง่ลบเกินไป” เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการสร้างผู้เรียนให้เป็นคนที่มีทักษะการคิด วิเคราะห์ และการคิดเชิงสร้างสรรค์ สอนให้ผู้เรียนเขียน หรือแสดงสัญลักษณ์ เพื่อมีคำตอบจากการอ่านหนังสือ ครูผู้สอนควรสอนให้ผู้เรียนรู้จักตั้งคำถามในการอ่านไม่ควรเชื่อในสิ่งที่ผู้เขียน เขียนมาทั้งหมด และเมื่อผู้เรียนไม่เข้าใจและมีข้อสงสัยควรแนะนำให้ผู้เรียนใส่เครื่องหมายคำถาม (?) หรือเขียนประเด็นที่สงสัย หรือยังไม่เข้าใจ ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม หรือสอบถามผู้รู้ และเขียนกำกับไว้ด้วยว่าเราไม่เข้าใจอะไร หรืออาจเขียนกำกับไว้ด้วยว่าจะต้องทำอะไรต่อไป เช่น “ ตรงนี้ต้องถามอาจารย์ ” “ ไปค้นพบในห้องสมุด ” เป็นต้น อันที่จริง ผมทำอย่างที่เอลลิสได้กล่าวไว้ข้างต้นมาตั้งแต่เด็กๆ และพบว่าทำให้การอ่านหนังสือได้ประโยชน์มาก ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคนเอาหนังสือที่ผมอ่านและได้เขียนสิ่งต่างๆ ไปอ่านต่อ หลายคนบอกผมว่า เขาได้รับประโยชน์จากการขีดเขียนของผมในหนังสือเล่มนั้นๆ ด้วย จึงสรุปได้ว่า วิธีการอ่านแบบนี้ช่วยทำให้ผู้เรียนได้ประโยชน์มากขึ้น และเรียนรู้ได้ดีมากขึ้นอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม วิธีเหมาะสำหรับหนังสือกับผู้เรียนที่เป็นเจ้าของเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเรียน หนังสืออ่านเพิ่มเติม หรือแม้กระทั้งหนังสือที่ขึ้นมาอ่านเล่น เพื่อให้การอ่านหนังสือเกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด แต่หนังสือที่เป็นของห้องสมุด ซึ่งต้องใช้ส่วนรวม ครูผู้สอนควรย้ำให้ผู้เรียนใช้หนังสืออย่างมีมารยาทและเห็นแก่ผู้อื่น โดยไม่จดข้อความหรือขีดเขียนสิ่งใดลงไปไม่พบหนังสือหรือวางคว่ำหน้าลง เพราะหนังสืออาจจะหักหรือเสียหายได้ และควรดูแลให้หนังสืออยู่ในสภาพเดิมให้มากที่สุด เพื่อให้ทุกคนได้ประโยชน์ในการใช้ร่วมกัน ผมมีความเชื่อว่า เปิดเทอมใหม่นี้ผู้เรียนทุกคนจะสามารถพัฒนาตนเองให้เก่งและฉลาดขึ้นได้ หากครูผู้สอนใส่ใจที่จะฝึกฝนและพัฒนาผู้เรียนในวิธีการที่เหมาะสม ซึ่ง “ การอ่านหนังสือ ” เป็นวิธีการหนึ่ง เพราะช่วยเพิ่มพูนความฉลาดและพัฒนาความเก่งและความฉลาดของผู้เรียนได้นั้น เกิดจากการที่เมื่ออ่านหนังสือผู้เรียนได้อ่านและคิดใคร่ครวญ ขีดเขียน ใส่สัญลักษณ์ ใส่เครื่องหมาย โต้ตอบกับผู้เขียน แม้จะดูเลอะเทอะ ไม่น่าดูในสายตาคนอื่น แต่แท้จริงแล้ว สิ่งที่ผู้เรียนได้รับนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยการเรียนรู้ใหม่ๆ ซึ่งคุ้มค่ากับการใช้หนังสือหนึ่งเล่ม









ไม่มีความคิดเห็น: